วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คำสรรพนาม เรียนภาษาไทยให้สนุกกับคุณครูสมนึก ธนการ

คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงมาแล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำอีก เช่นคำว่า ฉัน,เรา,ดิฉัน,กระผม,กู,คุณ,ท่าน,ใต้เท้า,เขา,มัน,สิ่งใด,ผู้ใด,นี่,นั่น,อะไร,ใคร,บ้าง ฯลฯ
“คำสรรพนาม” ใช้แทนคำนาม
เพียงเพื่อสื่อความไต่ถามถึงกัน
คน สัตว์ สิ่งของ ท้องที่ พืชพันธุ์เพียง
เพื่อยืนยันแทนกันทุกคำ
๑) บุรุษสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามในการพูดจากัน แบ่งเป็น ๓ พวก คือ
๑. บุรุษที่ ๑ หมายถึงคำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้พูด เช่น ฉัน,ผม,เรา,ดิฉัน,ข้าพระเจ้า ฯลฯ
๒. บุรุษที่ ๒ หมายถึงคำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ฟัง เช่น เธอ,คุณ,ท่าน,ใต้เท้า,พระองค์ ฯลฯ
๓. บุรุษที่ ๓ หมายถึงคำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ที่พูดถึง หรือสิ่งที่กล่าวถึง เช่น เขา,มัน,ท่าน,หล่อน,พระองค์ ฯลฯ
ฝากคุณบอกท่านด้วยนะครับว่า ผมมาหา,เธอมาพรุ่งนี้สิ วันนี้เราไม่อยู่บ้าน
“บุรุษสรรพนาม” คำแทนชื่อ
เพื่อใช้เป็นสื่อคุณครูเคยย้ำ
คุยฟุ้งเรื่องราวเล่าเรื่องเคยทำ
ประจำ ประจำ เราพร่ำพรรณนา
ใช้แทนผู้พูด “ผม ฉัน” ที่หวัง
ใช้แทนผู้ฟัง “เธอ ท่าน” แหละหนา
แทนผู้กล่าวถึง “เขา ท่าน มัน” มา
สรวญเสเฮฮาเม้าเรื่องมันมัน
๒) นิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่แสดงความชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่ นี่,นั้น,โน่น ฯลฯฉันอยู่นี่สบายกว่าอยู่โน่น,นี่คือหนังสือที่ยายของฉันชอบ
“นิยมสรรพนาม” ชี้ระยะ
มีไว้เพื่อกะระยะ “โน้น นั้น”
ใช้แทนคำนามอยู่ตรงไหนกัน
กำหนดที่มั่นดูกันให้ดี
แนะ โน้น พม่า นั้น ถ้าเป็นลาว
นี่ ใครกันเล่าเพิ่งมาที่ นี่
มันอยู่ที่ไหนช่วยหาหน่อยซี“
โน่น” ไงละพี่คน “นี้” แฟนเรา
๓) อนิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ไม่กำหนดแน่นอน และไม่เป็นคำถาม เช่น ใคร,ไหน,อะไร, อะไรๆ,ใดๆ ฯลฯ เช่น ขณะนี้ ไม่มีใครเชื่อเขาอีกแล้ว,อะไรๆ ฉันก็กินได้
“อนิยมสรรพนาม” แค่คิด
ถูก ถูกผิด ผิดฉันคิดถึงเขา
พูดขึ้นลอยลอยถามไปเปลือยเปล่า
จะมีใครเล่าที่รักเราจริง
เครื่องบินลำใหญ่ทำไมลอยได้
โกรธกันหรือไงไม่ยอมสุงสิง
รักมากแค่ไหมเกาะติดเป็นปลิง
ซนเหมือนกับลิงผู้หญิงผู้ชาย
๔) ปฤจฉาสรรพนาม (ปฺริดฉาสรรพนาม) คือ คำสรรพนามที่ใช้เป็นคำถาม เช่น ใคร,ไหน,อะไร ฯลฯ เช่น ใครเป็นเจ้าของสมุดเล่มนี้,เมื่อเช้าคุณทำอะไรที่ร้านค้า
“ปฤจฉาสรรพนาม” ใช้ถามไถ่
ถามว่าใครเป็นใครมีอะไรขาย
มันเป็นอะไรอยู่ไหนละนาย
ใครช่วยบรรยายให้ฉันฟังที
ว่าใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร
ช้าไม่ทันใจเดี๋ยวก็โดนตี
ตอบมาไวไว อย่าทำอู้อี้
ทำนิ่งอย่างนี้ ฉันไม่พอใจ
ขืนนิ่งอย่างนี้ เดี๋ยวแม่ตีให้ตาย
๕) วิภาคสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่บอกคำชี้ซ้ำ หรือแบ่งพวก หรือรวมพวก ได้แก่ บ้าง,ต่าง,กัน ฯลฯ เช่น ทหารบ้างก็ถือดาบ บ้างก็ถือดินสอ,นักเรียนต่างทำการบ้าน
“วิภาคสรรพนาม” บ้าง ต่าง กัน
ใช้แทนคำนั้นคำโน้นคำนี่
ใช้ “บ้าง ต่าง กัน” แทนคำบ่งชี้“
สัตว์ป่ามากมี ต่างที่ ต่างพันธุ์”
บ้างก็ช่วยถือ บ้างก็ช่วยหอบ”
บ้างก็ช่วยกอบ เป็นคนขยัน
ต่างคนร่วมด้วย ต่างช่วยเหลือกัน
ฉันขอยืนยัน ต่างกันกับคุณ

๖) ประพันธ์สรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า และทำหน้าที่เชื่อมประโยคที่ตามมาให้มีความสำพันธ์กัน เช่น ที่,ซึ่ง,อัน ฯลฯ เช่น แม่ทัพยกย่องทหารที่รักษาระเบียบวินัย,เด็กซึ่งนั่งอยู่ในร้านกำลังอ่านหนังสือ
“ประพันธ์สรรพนาม” ที่ ซึ่ง อัน
แล้วแต่จำนรรจ์ฉันขออุดหนุน
อันนี้อันนั้นมันของทำบุญ
ที่มาเจือจุนขอบคุณทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
พูดจริงทำจริง,ยึดมั่นในคำสอนของพ่อ(นายเต็ก ธนการ)ที่ว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน",เชื่อมั่นในกฏแห่งกรรม "คนทำดีต้องได้ดี..คนทำชั่วต้องได้รับผลกรรมแห่งการกระทำ",ไม่ชอบการโกหกและการลักขโมย