วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตลาดนัดนักเรียนโรงเรียนวัดนิโครธาราม

เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
กิจกรรมที่มุ่งเน้นพัฒนาการ คิดวิเคราะห์เรียนรู้จากกิจกรรมการปฏิบัติงานจริงๆ
..........................................................
ตลาดนัดนักเรียน
ตำรับรัก....ที่ไม่อาจซื้อหาได้จากตำราเรียน
ภาพและคำบรรยายโดย : คุณครูสมนึก ธนการ
..................................................
จากวันนั้นผ่านมาถึงวันนี้
ร่วมห้าปีที่ฉันเฝ้าฝันเห็น
จากรุ่นแล้วรุ่นเล่าเช้ายันเย็น
มิได้เว้นหมุนเวียนเปลี่ยนไปมา
ตลาดนัดนักเรียนในวันนั้น
เมื่อถึงวันจันทร์แรกก็เรียกหา
ของมากมายวางขายตรงชายคา
เรียกลูกค้ามาซื้อหยิบถือไป
แม่ค้าตั้งวางขายบนกระดาษ
สายตากวาดสาดส่ายไหนต่อไหน
ยอดผักกูด ผักหวาน หัวมัน ไข่
ขิง หัวไพร หน่อข่า มาวางเรียง
พริกขี้หนู ตำลึง ผักกาดขาว
ถั่วฝักยาว แตกกวา ยอดผักเหมียง
ลูกระกำ ฟักทอง กองลูกเนียง
หน่อลูกเหรียง ผักโขม อ้อย มะยม

กล้วยกอกหมาก กล้วยหอม กล้วยนมสาว
มะเขือยาว ส้มโอ มะระขม
ยอดมันล่า บอนเต่า ยอดชะอม
หัวมันต้ม ปลีกล้วย มะละกอ
หน่อไผ่ตง ตะไคร้ ต้นผักชี
ดอกดีปลี มะนาว สะท้อนห่อ
บวบ ลูกฟัก แตงไทย ลูกสะตอ
เสียงแจจอถามไถ่กันกราวเกรียว
มัดเท่าไหร่ กันจ๊ะ แม่ค้าสวย
ถามซื้อด้วยเลือกไปใจเสียวเสียว
ยอดผักสวยแม่ค้าขนตาเรียว
ตาหวานเชียวขอซื้อติดมือไป
มัดสามบาท ไม่แพงหรอกคะพี่
หากขายดีวันหน้ามาขายใหม่
ช่วยอุดหนุนน้องหน่อยค่อยชื่นใจ
ผักน้องใหม่ใช่แห้ง แล้งค้างปี

เห็นข้าวยำ ขี้มอด ขนมผิง
เห็ดหูลิง เมี่ยงกรอบ ของชอบพี่
อย่างละถุงนะจ๊ะคงจะดี
อุตส่าห์มีน้ำใจใคร่ขอบคุณ
ตำราเรียนนอกบทจดไว้จำ
สูงค่าล้ำตำราน่าอุดหนุน
ตำราเรียนสมัยเริ่มนายทุน
ความการุณแตกหน่อก่อกิ่งใบ
เห็นคุณครูยืนยิ้มอิ่มใจนะ
เสียงจ๋าจ๊ะแม่ค้าหน้าสดใส
เสียงแว่วหวานหว่านคำร่ำพิไร
ค่อยขานไขพร่ำขอต่อราคา
ต่างคนต่างหวังใจใคร่ซื้อของ
ต่างต่อรองหวังใจใคร่ซื้อหา
ต่างคนต่างประหยัดเต็มอัตรา
ด้วยรู้ค่าเงินทองต่อรองกัน

การประหยัดอดออมถนอมใช้
ต้องสอนให้เห็นจริงใช่สิ่งฝัน
การต่อรองเป็นเรื่องเครื่องยืนยัน
มิมีวันสอนได้ในตำรา
การช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนซื้อ
เป็นเหมือนสื่อเริ่มต้นการค้นหา
ไม่มีการซื้อขายไร้วิชา
ต้องฟันฝ่าสืบเสาะเจาะเอาเอง
จะซื้อใจใครเขาต้องเข้าหา
ต้องพูดจาอ่อนน้อมใช่ข่มเหง
ต้องค่อยพูดค่อยทำใช่งำเพลง
รู้จักเกรงยอมให้อภัยกัน
จะงานหนักงานเบาต้องเข้าช่วย
จะเห็นด้วยหรือไม่ใช่หุนหัน
คอยเอาใจแลดูอยู่แบ่งปัน
คอยยืนยันถามตอบคอยปลอบใจ
เศรษฐกิจพอเพียง” เลี้ยงชีพด้วย
จะได้ช่วยพ่อแม่แกไม่ไหว
ต้องตัดยางดึกดึกตื่นก่อนไก่
ยอมยากไร้จนยากฝากลูกเรียน
ดูรูปร่างเรือนกายแม่ผ่ายผอม
อดก็ยอมให้ลูกได้ขีดเขียน
ฝากคุณครูช่วยสอนช่วยติเตียน
แม้ดีเฆี่ยนแม่พร้อมยอมจำนน
ราคายางก็ลงเป็นบ้องตื้น
น้ำมันขึ้นกุ้งหอยก็พลอยฝน
พากันขึ้นลื่นไหลเหมือนรถยนต์
แต่ใจคนยิ่งทรามต่ำเต็มที
เดี๋ยวปล้นจี้ข่มขืนหื่นกระหาย
ฆ่ากันตายไม่เว้นไปเป็นผี
คนอุบาทว์ชาติชั่วอ้ายอัปรีย์
อเวจีสมสู่ที่อยู่มัน
ความคืบหน้าเมื่อผ่านกาลเวลา
เสียงจ๊ะจ๋ายังมีเหมือนที่ฝัน
เด็กรุ่นเก่าจบไปใหม่มาพลัน
แล้วเลื่อนชั้นผ่านไปใหม่ทุกปี
ประสบการณ์เรียนรู้เรื่องการขาย
ยังเวียนว่ายให้เห็นเป็นสักขี
ตลาดนัดนักเรียนยังขายดี
มีน้องพี่อุดหนุนคอยจุนเจือ
เหตุที่ยกเรื่องเก่ามาเล่าใหม่
เพราะซึ้งใจเด็กน้อยคอยแผ่เผื่อ
คอยอุดหนุนเพื่อนขายไม่หลอเหลือ
ไม่น่าเชื่อแต่ต้องคิดปลงใจ
เศรษฐกิจพอเพียงเรื่องการขาย
เด็กหญิงชายเรียนรู้อย่างสดใส
ประสบการณ์แตกหน่อกิ่งก้านใบ
ความเข้าใจเริ่มเห็นแม้นเลือนราง
เริ่มเรียนรู้สินค้าที่จะขาย
กลุ่มเป้าหมายเอาใจใช่ถากถาง
ไม่ตึงไปหย่อนไปใช้กลางกลาง
จะแพงบ้างถูกบ้างก็ว่าไป
คุณธรรมลีลาค้าขายของ
น่ายกย่องมาแปลกแหวกแนวใหม่
ศีลธรรมจรรยาน่าภูมิใจ
เด็กสมัยเขาหัดพัฒนา
ไม่ทำหน้าบึ้งตึงเหมือนขึ้งโกรธ
ไม่ฉาวโฉดเก็บข่มอารมณ์หน้า
ไม่หงุดหงิดงุ่นง่านกับลูกค้า
ไม่ด่าว่าเหมือนเก่าเท่าที่มี
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่ได้เห็น
เป็นจุดเด่นเชิดหน้าชูราศี
กลยุทธ์ต่อรองคล่องดูดี
สิ่งเหล่านี้ที่เห็นเด่นชินตา
หลักการและเหตุผล
การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน
“มุ่งเน้นให้พัฒนานักเรียนอย่างเต็มศักยภาพ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามสภาพจริง
ให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสม”
ด้านสินค้าเดี๋ยวนี้ที่มุ่งเน้น
มักจะเป็นอาหารเพื่อนเรียกหา
ขนมเค้ก วุ้นเส้น ผักคะน้า
กล้วยน้ำว้า โดนัท ซาลาเปา
ข้าวเกรียบกุ้ง ส้มโอ ลูกสะตอ
ขนมห่อ มะม่วง ถั่ว ข้าวเม่า
ขนมปัง ข้าวยำ ลูกน้ำเต้า
รีบซื้อเข้าเดี๋ยวหมดอดได้กิน

หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
สาระที่ 3 เรื่องเศรษฐศาสตร์ มาตรฐาน ส. ๓.๑ กล่าวไว้ว่า
“เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิตและการบริโภค
การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า
รวมทั้งใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ”
อยากชวนเชิญน้องน้องมาอุดหนุน
ช่วยกันลุ้นซื้อขายใช้ทรัพย์สิน
ให้เงินทองสะพัดไปทั่วถิ่น
ให้ได้ยินกันทั่วทุกตัวคน
เรื่องการสอนมุ่งเน้นพัฒนา
การศึกษาเรียนรู้ทุกแห่งหน
บริโภคทรัพย์สินของชุมชน
ให้รวยล้นอยู่ดีกินดีกัน
คุณครูจุรีย์ หนูสุวรรณ
ได้จัดตั้งโครงการตลาดนัดนักเรียนขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน
และสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการดำรงชีพอย่างพอเพียง
ให้เข้าใจสามารถบริหาร
ให้จัดการสินทรัพย์ที่เลือกสรร
บริโภคผลิตและแบ่งปัน
ร่วมสร้างฝันก่อเกื้อด้วยเยื่อใย
เศรษฐกิจใช้หลักเศรษฐศาสตร์
ร่วมกันวาดสังคมร่วมสมัย
เศรษฐกิจพอเพียงปริแตกใบ
โครงการใหญ่ตลาดนัดนักเรียน

วัตถุประสงค์
เพื่อให้นักเรียนเกิดประสบการณ์ตรงจากการเรียนการสอน
เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม
เพื่อให้นักเรียนเกิดความตระหนักในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
เพื่อให้นักเรียนรู้จักการเก็บออม
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสตร์ฯ
กำหนดวาดแนวทางการอ่านเขียน
กำหนดรูปแบบอย่างสร้างความเพียร
คอยแปรเปลี่ยนเนื้อหาน่าสนใจ
ในหนังสือได้กล่าวเล่าให้เห็น
สังคมเป็นอย่างนี้หรือไฉน
ตลาดนัดโบราณเป็นอย่างไร
ช่วยขานไขชี้แนะและบรรยาย
เป้าหมายเชิงปริมาณ
จำนวนนักเรียนที่เป็นผู้ขายหรือ พ่อค้า แม่ค้า
จำนวนนักเรียนที่เป็นผู้ซื้อหรือ ผู้ใช้บริการ
ประสบการณ์ตรงตรงที่ได้รับ
จะเกิดกับเด็กเด็กเหมือนอ่านเขียน
ได้เกาะติดคิดสร้างหวังความเพียร
ได้แปรเปลี่ยนตามแต่ความต้องการ
ในสังคมที่เราต้องสืบทอด
มิได้จอดอยู่เพียงแค่ขับขาน
ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้สู่เชี่ยวชาญ
ความทะยานยิ่งอยากหนียากจน
เป้าหมายเชิง คุณภาพ
เป็นโครงการที่พัฒนาศักยภาพของนักเรียนและการบูรณาการทุกกลุ่มสาระ
ทำให้นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน
ทำให้นักเรียนมีเงินออมและเห็นคุณค่าของการมีรายได้
นักเรียนมีทักษะในการประกอบอาชีพ การทำบัญชี การทอนเงิน และการตั้งราคาสินค้า
จะให้ล้มจมปลักอยู่ในห้วย
เหมือนคนป่วยไร้ญาติเพราะขัดสน
หนักตำราหนักหัวหนักใจคน
หนักเสียล้นทับกายแทบวายวาง
เลิกปรับเปลี่ยนเรียนรู้แบบบรรยาย
มาขยายความคิดให้กว้างขวาง
มาตีแผ่ความคิดให้เบาบาง
มาสะสางบางเรื่องที่เปลืองใจ

ลักษณะโครงก
เป็นโครงการต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา
เป็นโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการวิเคราะห์ ด้านคุณธรรมจริยธรรม
เป็นโครงการส่งเสริมและสนับสนุนด้านเศรษฐกิจพอเพียง
เสวนาพาทีสักทีเถิด
ให้มันเกิดแนวคิดทันสมัย
ทฤษฎีบางเรื่องควรเปลี่ยนไป
หรือเก็บไว้อ้างอิงอย่างจริงจัง
เหมือนเรือล่องในน้ำยามตื้นลึก
ความรู้สึกแตกต่างอย่างความหวัง
ยิ่งคลื่นลมกระหน่ำย้ำมิยั้ง
มิให้พลั้งยึดยื้อถืออย่างไร
อย่างปัญหาง่ายง่ายสมันนี้
กลายเป็นผีพลุกพล่านร่วมสมัย
เป็นวาระแห่งชาติของคนไทย
หลักสูตรใหม่เปลี่ยนแปลงแย่งกันตาย
“เป็นเด็กไทย อ่านไทยไม่ค่อยออก
ชอบแต่ลอกต่างชาติน่าใจหาย”
ตำราเรียนสมัยไทยบรรยาย
ยิ่งขยายศัพท์แสงยิ่งแปล่งไป
ปัญหาอุปสรรค
สถานที่จำหน่ายสินค้าคับแคบไม่เป็นเอกเทศ เพราะเป็นพื้นที่ที่นักเรียนเล่นในช่วงพักกลางวัน
ผู้ขายหรือ พ่อค้า แม่ค้า บางคนยังไม่มีทักษะในการขาย เช่น ทอนเงินช้า คิดราคาสินค้าผิด
สินค้าที่จำหน่ายบางรายการราคาแพงเกินไป หรือถูกเกินไป
สินค้าบางชนิดไม่เหมาะที่จะนำมาจำหน่าย
ตลาดนัดนักเรียนเปลี่ยนให้คิด
ให้ฝึกจิตจับจ้องมองนิสัย
ให้ฝึกหัดศึกษาปัญหาใจ
ให้รู้ได้แจ่มแจ้งแห่งความจริง
“เรามาร่วมประเดิมเสริมการขาย
กับความหมายบางอย่างในบางสิ่ง”
กับความเห็นความต่างอย่างเย่อหยิ่ง
กับภาพนิ่งที่เห็นค่อยเป็นไป
ประโยชน์ที่จะได้รับ
นักเรียนเห็นประโยชน์และคุณค่าจากสิ่งของที่ใช้แล้ว แต่ยังดีอยู่
เป็นการสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
ทำให้รู้คุณค่าของการหารายได้ๆเองโดยไม่ต้องขอเงินจากผู้ปกครอง
รู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
เกิดทักษะการทอนเงิน การคิดเรื่องผลกำไร ขาดทุน และการตั้งราคาสินค้า
ให้นักเรียนรู้จักวางแผนกับเงินที่ขายสินค้าในวันนั้น เช่น
เก็บไว้ซื้อสินค้าที่ตนเองต้องการ ซื้อสินค้ามาจำหน่ายในครั้งต่อไป ฝากธนาคาร เป็นต้น
แรกเริ่มมาค้าขายได้พันผูก
จะทอนถูกทอนผิดคิดหวั่นไหว
จะขายได้ไม่ได้ยังหวั่นใจ
ด้วยเนื้อในไม่เคยเผยวาจา
เพื่อนจะซื้อของเราบ้างไหมหนอ
เพื่อนจะต่อราคาบ้างไหมหนา
ถ้าเพื่อนเมินเดินผ่านไม่มองมา
จะเรียกหาเพื่อนพ้องร้องอย่างไร
จะตะโกนด่าเขาคงไม่ได้
ต้องวอนไหว้กราบกรานหรือไฉน
จะต้องรอเวลาสักเท่าใด
จึงอ่านใจผองเพื่อนให้เยือนเรา
ภาษาไทยอังกฤษคณิตศาสตร์
ทั้งงานวาดงานเขียนเคยโง่เขลา
ต้องสังเกตถามตอบชอบค่อยเอา
ต้องนั่งเฝ้ารอคอยบ่อยเวลา
ตำราเรียนเขียนไว้เพียงได้รู้
แต่ว่าอยู่ตรงไหนเกินเสาะหา
เปิดไม่ทันเสียแล้วลืมตำรา
เรื่องตรงหน้าต้องแก้ตีแผ่ไป
คณิตศาสตร์ตอนเรียนไม่ค่อยผิด
แต่กลับติดปัญหาหน้าตีไหม
ผิดบางคนตอนเรียนไม่เข้าใจ
พอค้าขายกลับคล่องลองคิดดู
สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวเล่าขยาย
แต่ความหมายซ่อนเร้นยังเห็นอยู่
เป็นอุบายท้าทายครับคุณครู
ถ้าอยากรู้อย่างน้องต้องลองทำ
..................................
เด็กนิโคร
wnikro@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
พูดจริงทำจริง,ยึดมั่นในคำสอนของพ่อ(นายเต็ก ธนการ)ที่ว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน",เชื่อมั่นในกฏแห่งกรรม "คนทำดีต้องได้ดี..คนทำชั่วต้องได้รับผลกรรมแห่งการกระทำ",ไม่ชอบการโกหกและการลักขโมย